ปากน้ำแขมหนู หรือปากน้ำวังโตนด เป็นปากแม่น้ำที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีที่เคยมีเรือสำเภาขนาดใหญ่จำนวนมาก บรรทุกสินค้าแล่นผ่านเข้ามาค้าขายกับชาวจันทบุรีที่ตั้งชุมชนอยู่ใกล้แม้น้ำวังโตนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายกับชุมชนท่าใหม่หลังจากทหารฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมืองจันทบุรีและควบคุมการแล่นเรือผ่านปากน้ำแหลมสิงห์
แม่น้ำวังโตนด ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาสูงในอำเภอแก่งหางแมวด้านทิศเหนือของจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างอำเภอวังสมบูรณ์
จังหวัดสระแก้ว และอำเภอสนามไชยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วยคลองโตนด และคลองประแกด คือ เขาช่อง เขาป้อม เขาลำปลายประแกด เขาเลือดแตก และเขาสอบแม เนินเขาเหล่านี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเขาชะมูล และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านขุนซอง ลำคลองประแกดจะไหลลงมาทางทิศใต้บรรจบกับคลองโตนด
แม่น้ำวังโตนดไหลลงสู่เกาะนก (ทางทิศใต้ของบ้านโขมง) ลักษณะของอ่าวเกาะนกมีความยาว 6.25 กิโลเมตร บริเวณปากอ่าวเรียกว่า ปากน้ำแขมหนู ปากอ่าวแคบเหมือนกับปากขวดโดยมีแหลมท้ายร้านดอกไม้ยื่นลงไปทางทิศใต้ ทำให้ปากน้ำแขมหนูเป็นแหลมทรายยื่นตรงไปทางทิศใต้ยาวถึง 1.8 กิโลเมตร
ปากน้ำแขมหนูในอดีตไม่ค่อยมีคนไปอยู่อาศัยมากนักเนื่องจากอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จัดได้ว่ากันดารเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีเรือสำเภาแล่นผ่านเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก
แต่ก็จะแล่นเข้าไปเทียบท่าและค้าขายกับชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไปซึ่งมีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นๆ เช่น ชุมชนโขมงที่อยู่ใกล้ปากน้ำแขมหนู ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่และมีความสำคัญในย่านปากน้ำวังโตนด (เคยเป็นอำเภอโขมง ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นอำเภอพลอยแหวน และอำเภอท่าใหม่ในปัจจุบัน) ต่อมาจึงได้แล่นเรือลึกเข้าไปค้าขายที่ "ท่าใหม่" ที่อยู่ลึกเข้าไปจากโขมง อีกเล็กน้อย ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นๆ
ที่สะดวกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนสินค้าจากท่าใหม่ไปยังตัวเมืองจันทบุรีในช่วงที่ฝรั่งเศสยึดครองอยู่สามารถทำได้สะดวกกว่าเส้นทางอื่นๆ ปากน้ำแขมหนูจึงเป็นเพียงที่ตั้งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่ออกจับสัตว์ทะเลตามชายฝั่งเป็นหลักตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนปากน้ำแขมหนูเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่ปลูกบ้านเรียงรายตามริมฝั่งแม่น้ำวังโตนด ในตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งของปากน้ำแขมหนูนั้นไม่ค่อยมีชาวประมงไปตั้งบ้านเรือนอยู่เท่าใดนักเนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงชัน และชายฝั่งเป็นโขดหิน ไม่มีเส้นทางคมนาคมทางบกติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ได้ ก่อนที่จะมีการสร้างสะพานเฉลิมพระเกียรติข้ามปากน้ำแขมหนู และสะพานตากสินมหาราชข้ามปากน้ำแหลมสิงห์
การเดินทางโดยรถยนต์มายังปากน้ำแขมหนูสามารถมาได้ทางเดียวคือผ่านเข้ามาทางอำเภอท่าใหม่ แต่ปัจจุบันสามารถเข้าถึงทางรถยนต์ได้หลายทาง
ชาวชุมชนปากน้ำแขมหนูมีวิถีชีวิตแบบชาวเล คือ อยู่กับชายทะเล หากินกับท้องทะเล นอกจากการออกเรือจับปลาตามชายฝั่งตามปกติแล้ว ในเวลากลางวัน ชาวประมงจะออกเรือจับแมงกะพรุน ส่วนในเวลากลางคืน ชาวบ้านมักจะออกทะเลเพื่อจับปลาหมึกที่ชอบเข้ามาเล่นแสงไฟในยามค่ำคืน ซึ่งสัตว์ทะเลที่ชาวบ้านจับมาได้นี้นอกจากจะกินกันในครอบครัวแล้ว บางส่วนก็จะนำไปขายกันแบบสดๆ และที่เหลือก็จะทำการแปรรูปเป็นอาหารทะเลตากแห้ง หรือแปรรูปในลักษณะอื่นๆ เพื่อเก็บไว้กิน หรือจำหน่ายต่อไป
ตั้งแต่มีการสร้างสะพานเฉลิมพระเกียรติข้ามปากน้ำแขมหนู
สะพานตากสินมหาราชข้ามปากน้ำแหลมสิงห์ และการสร้างถนนเฉลิมบูรพาชลทิตเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลต่างๆ ของจันทบุรีเข้าดัวยกัน ปากน้ำแขมหนูซึ่งอยู่บนถนนเฉลิมบูรพาชลทิตด้วยเช่นกันกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งขึ้นมาทันที เพราะมีจุดชมวิวที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม และมีชุมชนซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงดั้งเดิมให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจของชาวบ้าน |